วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ทำอย่าไรให้เป็นนักเปียโน ?



มีคำถามมากมายเกิดขึ้นในใจของนักเรียนที่เรียนดนตรีว่า
"ทำไมจะต้องเล่นเพลงที่ไม่ชอบ?"
"ทำไมต้องซ้อมดนตรีทุกวัน?"
"ทำไมต้องมีการแสดงเดี่ยว?"
"ทำไมต้องฝึกซ้อม Scale และ Arpeggios?"





การเรียนเปียโนต้องเรียนรู้ถึงการอ่านโน้ต การนับจังหวะ และการฝึกฝนนิ้ว เพื่อที่จะเล่นในสิ่งที่ต้องการ การฝึกฝนทักษะเหล่านี้ ต้องใช้เวลาในการพัฒนาทักษะ เพลงที่อาจารย์เลือกให้เล่นนั้น ได้คัดเลือกมาเพื่อช่วยการเรียนรู้ทักษะด้านต่างๆ เมื่อสามารถเล่นเพลงหรือแบบฝึกหัดที่อาจารย์สอนให้ได้เป็นอย่างดีแล้ว ค่อยเลือกเพลงที่ชอบจะเป็นผลดีกับนักเรียนมากกว่า

การฝึกซ้อมก็เหมือนกับเมื่อนักเรียนเรียนรู้ที่จะอ่านหรือเขียนหนังสือ ในระยะแรก การผสมคำ การจำความหมายของคำจะรู้สึกว่ายาก แต่เมื่อได้เรียนรู้ไปทีละนิดประกอบกับการฝึกฝนบ่อยๆ ในที่สุดก็สามารถอ่านเขียนหนังสือได้

ดนตรีเหมือนกับการอ่านเขียนหนังสือ ยิ่งเล่นเพลงได้มากเท่าใดก็จะรู้สึกสนุกมากเท่านั้น ในไม่ช้าก็สามารถเล่นเพลงได้มากมาย และอาจเล่นให้เพือ่นฟัง หรือให้เพื่อนร้องเพลงควบคู่กันไป


เมื่อได้เรียนรู้การเล่น Piano แล้ว ต้องสามารถเล่นต่อหน้าสาธารณะชนได้ การแสดงครั้งแรกอาจเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับนักเรียนภายใต้ความกดดันต่างๆ นานา ทำให้เล่นได้ไม่ดีเหมือนตอนที่ซ้อม แต่ในครั้งต่อไปของการแสดง นักเรียนจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้น เพราะประสบการณ์ แต่ละครั้งทำให้นักเรียนรู้สึกสบาย ไม่เกร็งในขณะเล่นต่อหน้าผู้อื่น

การแสดงเดี่ยว นับเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ ยิ่งแสดงมากยิ่งรู้สึกว่าง่ายขึ้น ถ้าเตรียมตัวมากมีความพร้อมในการแสดงครั้งต่อๆไป ความกลัวจะน้อยลง รู้สึกสบาย มีความกล้ามากขึ้น สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น


ทำไมต้องซ้อม Scales?
ให้สังเกตว่าร่างกายของเราต้องฝึกฝน ฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับทุกๆสิ่ง เช่น ด้านกีฬา เต้นรำ ต้องมีการฝึกเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อ ในส่วนต่างๆ เพื่อให้ร่างกาย ไม่รู้สึกเหนื่อย เมื่อยล้า


Scales และ Arpeggios นั้นเป็นการฝึกขั้นพื้นฐานสำหรับนักเปียโน ไม่ใช่เพื่อช่วยให้เข้าใจ Key Signatures อย่างเดียว แต่ยังเป็นการพัฒนาทักษะด้านการอ่านโน้ต ช่วยในการพัฒนานิ้ว และข้อมือให้ดี ช่วยควบคุมร่างกายให้ปฏิบัติได้อย่างที่เราต้องการ เช่น การเล่น เร็ว ช้า เบา ดัง Legato Staccato นอกจากนั้นยังเป็นการ Warm-up เพื่อให้แสดงฝีมือได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น เมื่อครูสั่งการบ้านให้มาฝึก Scales หรือ Arpeggios ให้นักเรียนฝึกซ้อมมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

เรียนเปียโน เรียนอะไร ฝึกอะไร นี่คงเป็นแนวทางหรือคำตอบ ที่พอจะทำให้นักเรียนและผู้ปกครอง เข้าใจว่า การเรียนเปียโนนั้น ครูได้สอนอะไรให้นักเรียน บางครั้งการสั่งการบ้านให้กับนักเรียน เพิ่งเริ่มเรียนมาฝึกที่บ้าน ผู้ปกครองหลายท่านไม่เข้าใจว่าสำคัญหรือมีประโยชน์อย่างไร แต่จุดนั้นคือหัวใจในการฝึกเปียโน นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับการเริ่มเรียนเปียโนระยะแรกๆ ขอเพียงอย่างเดียวอย่าให้นักเรียนรู้สึกย่อท้อ ความสำเร็จย่อมมาถึงอย่างแน่นอน

FREDERIC CHOPIN


FREDERIC CHOPIN
Born: March 1, 1810 - Zelazowa-Wola, Poland
Died: October 17, 1849 - Paris, France

เฟเดอริก โชแปง(Frederic Chopin) เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1810 ในเมือง Zelazowa Wola ประเทศโปแลนด์ โดยมีมารดาเป็นคนโปแลนด์ และบิดาเป็นคนฝรั่งเศษผู้ซึ่งมายังโปแลนด์เพื่อสอนภาษาฝรั่งเศษ โชแปงได้รับการเลี้ยงดูและสอนหนังสืออยู่ในกลุ่มลูกๆของผู้มีการศึกษาในโรงเรียนของบิดา โดยเรียนเปียโนครั้งแรกกับ Adalbert Zywny และต่อมาเรียนกับ Josept Elsner ซึ่งเป็นผู้จัดการของ Warsaw Conservatory เมื่ออายุ 8 ปี โชแปงออกแสดงต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรก โดยบรรเลงเพลงคอนแชร์โตประพันธ์โดย Gyrowetz และ เมื่ออายุ 15 ปี เขาบรรเลงเพลง Rondeau for Piano, Opus 1 ผลงานประพันธ์ชิ้นแรกของเขาต่อหน้าสาธารณชน เมื่ออายุ 19 ปี โชแปงเดินทางไปกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียซึ่งเขาประสบความสำเร็จในการแสดงคอนเสิร์ท และได้พบกับผู้จัดพิมผลงาน เพื่อตีพิมผลงานของเขา

ในฐานะนักศึกษาที่เรียนเต็มเวลาที่ Warsaw Conservatory โชแปงเรียนเปียโนกับ Elsner ต่อไป และมุ่งเน้นที่ทฤษฎีดนตรี harmony counterpoint และ การประพันธ์เพลง เขามีความรักในเปียโนมากที่สุดดังนั้นวิชาหลักของการประพันธ์ของเขาคือการประพันธ์เพลงสำหรับเปียโน ซึ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปตามช่วงชีวิตของเขา

ในปี 1830 โชงแปงออกแสดงเพลง Piano concerto ในบันไดเสียง F minor เป็นครั้งแรก และแสดง Piano concerto ในบันไดเสียง E minor ต่อมาไม่นานนัก โชแปงย้ายจากปารีสในปี 1831 เนื่องจากข่าวการปฎิวัติของโปแลนด์ต่อต้านรัสเซีย เขาได้พบและเป็นเพื่อนกับผู้ประพันธ์เพลง Bellini, Berlioz, Cherubini, Liszt, Meyerbeer และ Rossini เขามีงานแสดงคอนเสิร์ทและงานสอนที่ประสบความสำเร็จ

ในช่วงกลางทศวรรษ 1830 สุขภาพของโชแปงทรุดโทรมลง ทว่าความสัมพันธ์อันยาวนานได้บังเกิดขึ้นเมื่อโชแปงได้พบกับนักเขียนที่มีชื่อว่า Aurore Dudevant ผู้มีนามปากกา "George Sand" เมื่อปี1836 ในขณะที่ใช้ชีวิตร่วมกันเธอเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ของโชแปง ทั้งคู่ท่องเที่ยวบ่อยครั้ง แต่ไม่มีการแต่งงานเกิดขึ้น และในที่สุดก็แยกทางกันเมื่อปี1847 โชแปงผู้ซึ่งเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อในปอดอยู่ก่อนแล้วจึงอาการทรุดลงไปอีก โชแปงยังสูญเสียความกระตือรือร้นในการประพันธ์เพลงอีกด้วย แต่เขาก็ยังแสดงคอนเสิร์ทที่ยุโรปในปีถัดมา การแสดงต่อหน้าสาธารณชนครั้งสุดท้ายของโชแปงมีขึ้นเมื่อวันที่ 16กุมภาพันธ์1848 ที่กรุงปารีส และโชแปงก็ได้เดินทางไปประเทศอังกฤษ ที่ซึ่งต้องการตัวโชแปงในฐานะคีตกวีเอกและนักเปียโนเอกสำหรับราชินีวิคโตเรียและเชื้อพระวงศ์ หลังจากกลับมายังกรุงปารีส โชแปงก็ป่วยมากเกินกว่าที่จะสอนหรือแสดงเปียโนอีกต่อไป โชแปงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17ตุลาคม1849 มีคนกว่า3000คนมาร่วมพิธีศพซึ่งมีวง Paris Conservatory Orchestra และวงประสานเสียงบรรเลงเพลง Requiemของโม้ทสาร์ท โชแปงได้พบกับความเป็นนิรันดร์ หลุมศพของเค้าอยู่ระหว่าง Bellini และ Cherubini

โชแปงนำพาให้เปียโนกลายเป็นเครื่องดนตรีสำหรับเล่นเดี่ยวด้วยบทเพลงสำหรับเปียโนมากกว่า200ชิ้นที่ได้ประพันธ์ ถึงแม้การเรียบเรียงเสียงผสานที่ลุ่มลึกของโชแปงจะไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก การแสดงออกทางอารมณ์ และความตื่นเต้นเร้าใจของบทเพลงก็ไม่มีคีตกวีคนใหนเทียบได้

ประวัติ Wolfgang Amadeus Mozart นักดนตรีที่ฉันชื่นชอบ


กวีเอกที่โลกไม่เคยลืม
โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart)

คีตกวีเอกของโลก

ชื่อ โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart)
ชื่อเล่น "โวล์ฟเฟิร์ล" หรือ "โวล์ฟฟี่"
วันเกิด 27 มกราคม ค.ศ. 1756
มรณะ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1791
สถานที่เกิด เมืองซักเบิร์ก ประเทศออสเตรีย
ชื่อภรรยา คอนสแตนซ์ วีเบอร์
ชื่อบุตรชาย คาร์ล โทมัส,ฟรานซ์ เซเวีย
ชื่อบิดา ลีโอโพลด์ โมซาร์ท
อาชีพ นักประพันธ์เพลง
ตำแหน่ง รองประธานโบสถ์ในความอุปถัมภ์ของเจ้าชายอาร์คบิชอปแห่งซัลสบูร์ก
ชื่อมารดา แอนนา มาเรีย เพิร์ต
ชื่อพี่สาว มาเรีย แอนนา
ชื่อเล่น แนนเนิร์ล
สัตว์เลี้ยง สุนัข ชื่อ บัมเพิร์ล

ชีวประวัติของโมซาร์ท

วัยเด็ก

โมซาร์ทเป็นบุตรของนักประพันธ์เพลงชาวเยอรมัน ลีโอโพลด์ โมซาร์ท (ค.ศ. 1719 - ค.ศ. 1787) รองประธานโบสถ์ในความอุปถัมภ์ของเจ้าชายอาร์คบิชอปแห่งซัลสบูร์ก (Salzbourg) กับแอนนา มาเรีย เพิร์ต (Anna Maria Pert) (ค.ศ. 1720 - ค.ศ. 1778) โวล์ฟกัง ได้แสดงได้เห็นอัจฉริยภาพทางดนตรีก่อนวัยอันควรตั้งแต่อายุสามขวบ เขามีหูที่ยอดเยี่ยมและความจำที่แม่นยำความสามารถพิเศษยิ่งยวดทำให้เป็นที่น่าฉงนแก่ผู้คนรอบข้าง และเป็นแรงกระตุ้นให้บิดาของเขาให้สอนฮาร์ปซิคอร์ดแก่เขาตั้งแต่อายุห้าขวบ โมซาร์ทน้อยเรียนไวโอลินและออร์แกนเป็นเครื่องดนตรีชิ้นต่อมา ตามด้วยวิชาเรียบเรียงเสียงประสาน เขารู้จักการแกะโน้ตจากบทเพลงที่ได้ยินและเล่นทวนได้อย่างถูกต้องตั้งแต่วัยยังไม่รู้จักอ่านเขียนและนับเลข เมื่ออายุหกขวบ (ค.ศ. 1762) เขาก็แต่งเพลงชิ้นแรกได้แล้ว (เมนูเอ็ต KV.2, 4 และ 5 และ อัลเลโกร KV.3)

ระหว่าง ค.ศ. 1762 ถึง ค.ศ. 1766 เขาได้เดินทางออกตระเวนแสดงคอนเสิร์ตกับบิดา (ที่เป็นลูกจ้างของเจ้าชายอาร์คบิชอปแห่งแชรตเตนบาค (Schrattenbach)
และพี่สาว"แนนเนิร์ล" เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1751 พวกเขาเปิดการแสดงในนครมิวนิคเป็นแห่งแรก ตามมาด้วยกรุงเวียนนา ก่อนที่จะออกเดินสายครั้งใหญ่ทั่วทวีปยุโรป ซึ่งเริ่มตั้งแต่ มิวนิค ออกสบูร์ก มันน์ไฮม์ แฟรงค์เฟิร์ต บรัสเซล ปารีส ลอนดอน เฮก อัมสเตอดัม ดิจง ลียง เจนีวา โลซาน) การแสดงของเขาประทับใจผู้ชมเป็นอย่างมาก และยังทำให้เขาได้พบกับแนวดนตรีใหม่ๆอีกด้วย เขาได้พบกับนักดนตรีสามคนที่ต้องจดจำเขาไปตลอดชีวิต
อันได้ โยฮัน โชเบิร์ต ที่กรุงปารีส โยฮันน์ คริสเทียน บาค (บุตรชายคนรองของ โยฮันน์ เซบาสเทียน บาค) ที่กรุงลอนดอน และเบอร์นัว แมร์ล็องผู้ซึ่งไม่เป็นที่รู้จัก ที่เมืองปาดู แมร์ล็องนี่เองที่ทำให้โมซาร์ทได้ค้นพบ เปียโนฟอร์ท ที่ถูกคิดค้นขึ้นตั้งแต่ต้นคริสตศตวรรษที่ 18 และโอเปร่าในแบบของชาวอิตาเลียน แมร์ล็องยังได้สอนให้เขาแต่งซิมโฟนีอีกด้วย

เมื่อปี ค.ศ. 1767โมซาร์ทได้ประพันธ์โอเปร่าเรื่องแรกตั้งแต่อายุได้ 11 ปี ชื่อเรื่อง อพอลโล กับ ไฮยาซิน (K.38) เป็นบันเทิงคดีภาษาละตินที่แต่งให้เปิดแสดงโดยคณะนักเรียนของโรงเรียนมัธยมที่ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยแห่งเมืองซัลสบูร์ก เมื่อเขาเดินทางกลับถึงประเทศออสเตรีย เขาได้เดินทางไปยังกรุงเวียนนาบ่อยครั้ง และได้แต่งโอเปร่าสองเรื่องแรก ได้แก่ นายบาสเตียน กับ นางบาสเตียน และ ลา ฟินตา ซ็อมปลิซ ตลอดช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1768 เมื่อมีอายุได้ 12 ปี ในปีถัดมา เขาได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าชายอาร์คบิชอปให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคอนเสิร์ต บิดาของเขาได้ขอลาพักงานโดยไม่รับเงินเดือนเพื่อพาเขาไปท่องเที่ยวที่ประเทศอิตาลี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1769 ถึง ค.ศ. 1773 โมซาร์ทได้เดินทางไปประเทศอิตาลีหลายครั้งเพื่อไปศึกษาเกี่ยวกับโอเปร่า อันเป็นรูปแบบดนตรีที่เขาใช้ประพันธ์ การแต่งงานของฟิกาโร (Les Noces de Figaro) ดอนจิโอแวนนี โคสิ แฟน ตุตเต้ ขลุ่ยวิเศษ (Die Zauberfl?te) ฯลฯ) เขาสามารถนำเสียงดนตรีอันสูงส่งเหล่านี้ออกมาสู่โลกได้ จากใส่ใจในความกลมกลืนของเสียงร้อง และ ความสามาถในการควบคุมเสียงอันเกิดจากเครื่องดนตรีหลากชิ้น
โชคไม่ดีที่ ในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1771 เจ้าชายอาร์คบิชอปแห่งแชรตเตนบาคได้สิ้นชีพิตักษัย เจ้าชายอาร์ค บิชอปแห่งโคลโลเรโดได้กลายมาเป็นนายจ้างคนใหม่ของเขา

รับใช้เจ้าชายอาร์คบิชอปแห่งโคลโลเรโด (ค.ศ. 1773 - ค.ศ. 1781)

โมซาร์ทไม่มีความสุขที่บ้านเกิดของเขา เนื่องจากนายจ้างใหม่ไม่ชอบให้เขาออกไปเดินทางท่องเที่ยว และยังบังคับรูปแบบทางดนตรีที่เขาได้ประพันธ์ให้กับพิธีทางศาสนา เมื่อมีอายุได้ 17 ปี เขาไม่ยินดีที่จะยอมรับข้อบังคับนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับอาร์คบิชอปเสื่อมถอยลงในอีกสามปีต่อมา โชคดีที่เขาได้รู้จักกับ โยเซฟ เฮย์เด้นซึ่งก็ได้มาเป็นเพื่อนโต้ตอบทางจดหมายและเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันตลอดชีวิต

"ข้าต้องการพูดต่อหน้าพระเจ้า ในฐานะชายผู้ซื่อสัตย์ บุตรชายของท่านเป็นคีตกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ข้าเคยรู้จัก
ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักเป็นการส่วนตัวหรือรู้จักเพียงในนาม เขามีรสนิยม
และนอกเหนือจากนั้น เป็นศาสตร์ทางการประพันธ์ดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด"
ในจดหมายที่ โยเซฟ เฮย์เด้น เขียนถึง ลีโอโพลด์ โมซาร์ท
"มีเขาเพียงคนเดียวเท่านั้นที่รู้จักเคล็ดลับที่จะทำให้ข้าหัวเราะ และสัมผัสจิตวิญญาณส่วนที่อยู่ลึกสุดของข้าเอง"
โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท กล่าวถึงโยเซฟ เฮย์เด้น

ในปีค.ศ. 1776 โมซาร์ทมีอายุได้ 20 ปี และได้ตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองซัลสบูร์ก อย่างไรก็ดี เจ้าชายอาร์คบิชอป ได้ปฏิเสธไม่ให้บิดาของเขาไปด้วย และบังคับให้เขาลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการคอนเสิร์ต หลังจากการเตรียมการเป็นเวลาหนึ่งปี โมซาร์ทได้จากไปพร้อมกับมารดา โดยเดินทางไปยังนครมิวนิคเป็นแห่งแรก ที่ซึ่งเขาหาตำแหน่งงานไม่ได้ จากนั้นจึงไปที่เมืองออกสบูร์ก และท้ายสุดที่มันน์ไฮม์ ที่ซึ่งเขาได้ทำความรู้จักกับนักดนตรีมากมาย อย่างไรก็ดี แผนการที่จะหาตำแหน่งงานของเขาไม่เป็นผลสำเร็จ ในระหว่างนั้นเองที่เขาได้ตกหลุมรักอลอยเซีย วีเบอร์ นักเต้นระบำแคนตาตาสาวอย่างหัวปักหัวปำ ที่ทำให้บิดาของเขาโกรธมาก และขอให้เขาอย่าลืมอาชีพนักดนตรี โมซาร์ทมีหนี้สินล้นพ้นตัว เขาเริ่มเข้าใจว่าจะต้องออกหางานทำต่อไป และออกเดินทางไปยังกรุงปารีสในเดือนมีนาคม ปีค.ศ. 1778

เป็นอิสระที่กรุงเวียนนา (ค.ศ. 1782-ค.ศ. 1791)

ในปีค.ศ.1781โมซาร์ทเดินทางไปยังกรุงเวียนนากับเจ้าชายอาร์คบิชอปแห่งโคลโลเรโด ผู้ได้เลิกจ้างโมซาร์ทที่เวียนนา โมซาร์ทจึงตั้งรากฐานอยู่ที่เวียนนาเมื่อเห็นว่าชนชั้นสูงเริ่มชอบใจในตัวเขา และในปีเดียวกันนั้น โมซาร์ทได้แต่งงานกับคอนสแตนซ์ วีเบอร์ โดยที่บิดาของโมซาร์ทไม่เห็นด้วยกับงานวิวาห์นี้ โมซาร์ทและคอนสแตนซ์มีลูกด้วยกันถึงหกคน ซึ่งเพียง 2 คนรอดพ้นวัยเด็ก

ปีค.ศ.1782เป็นปีที่ดีสำหรับโมซาร์ท โอเปร่าเรื่อง Die Entf?hrung aus dem Serail ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่ และโมซาร์ทก็ได้แสดงคอนเสิร์ตชุดที่เขาเล่นในเปียโนคอนแซร์โตของเขาเอง

ระหว่างปีค.ศ.1782 - ค.ศ. 1783 โมซาร์ทได้รับอิทธิพลจากผลงานของบาค และแฮนเดลผ่านบารอนก็อตตเฟร็ด วอน สวีเทน (Baron Gottfried van Swieten) แนวเพลงของโมซาร์ทจึงได้รับอิทธิพลจากยุคบาโรคตั้งแต่นั้นมา อย่างที่เห็นได้ชัดในท่อนฟูเก้ของ ขลุ่ยวิเศษ และซิมโฟนี หมายเลข 41

ในช่วงนี้เอโมซาร์ทได้มารู้จักและสนิทสนมกับโยเซฟ เฮเด้น โดยทั้งสองมักจะเล่นในวงควอเตทด้วยกัน และโมซาร์ทก็ยังเขียนควอเตทถึงหกชิ้นให้เฮเด้น เฮเด้นเองก็ทึ่งในความสามารถของโมซาร์ท และเมื่อได้พบกับลีโอโปล์ด พ่อของโมซาร์ท ได้กล่าวกับเขาว่า "ต่อหน้าพระเจ้าและในฐานะคนที่ซื่อสัตย์ ลูกของท่านเป็นนักประพันธ์ที่ดีที่สุดที่ผมเคยได้พบหรือได้ยิน เขามีรสนิยม และมากกว่านั้น เขามีความรู้เรื่องการประพันธ์" เมื่อโมซาร์ทอายุมากขึ้น เขาก็ได้รับอิทธิพลจากนักปราชญ์แห่งศตวรรษที่ 18 และเป็นฟรีเมสันที่อยู่ในสาขาโรมัน คาโทลิค โอเปร่าสุดท้ายของโมซาร์ทแสดงถึงอิทธิพลฟรีเมสันนี้
ชีวิตของโมซาร์ทมักพบกับปัญหาทางการเงินและโรคภัยไข้เจ็บ โมซาร์ทย่อมไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับงานของเขา และเงินที่เขาได้รับนั้นก็ถูกผลาญด้วยวิถีชีวิตที่หรูหราอลังการ

โมซาร์ทใช้ชีวิตในช่วงปีค.ศ. 1786 ที่กรุงเวียนนาในอพาร์ตเมนท์ที่จนถึงวันนี้ยังสามารถเข้าชมได้ที่ดอมกาส 5 (Domgasse 5)หลังโบสถ์แซนท์สตีเฟน (St. Stephen's Cathedral) โมซาร์ทประพันธ์ Le nozze di Figaro และ Don Giovanni ณ ที่แห่งนี้

บั้นปลายชีวิต

บั้นปลายและการเสียชีวิตของโมซาร์ทยังคงเป็นเรื่องที่หาข้อสรุปยากสำหรับนักวิชาการ เพราะมีทั้งตำนานและเรื่องเล่าแต่ขาดหลักฐาน มีทฤษฏีหนึ่งสันนิษฐานว่าสุขภาพของโมซาร์ทเริ่มแย่ลงทีละเล็กทีละน้อย และโมซาร์ทเองก็รับรู้สภาพนี้ซึ่งปรากฏขึ้นในงานประพันธ์ของเขา แต่นักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยอ้างถึงจดหมายที่โมซาร์ทเขียนถึงครอบครัว ที่ยังมีทัศนะคติที่สดใส และปฏิกิริยาของครอบครัวเมื่อได้ข่าวเรื่องการเสียชีวิตของโมซาร์ท การเสียชีวิตของโมซาร์ทยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ใบมรณภาพของโมซาร์ทบันทึกไว้ว่าเขาเสียชีวิตเพราะ"ไข้สาหัส" และมีทฤษฎีมากมายที่พยายามอธิบายการเสียชีวิตให้ละเอียดมากขึ้น

โมซาร์ทเสียชีวิตในเวลาประมาณ 01.00 น. วันที่ 5 เดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1791 ในขณะที่เขากำลังประพันธ์เพลงเรเควียม ที่ประพันธ์ไม่เสร็จ ตามตำนานที่เล่าลือ โมซาร์ทตายโดยที่ไม่เหลือเงินและถูกฝังในหลุมศพของคนอนาถา ร่างของโมซาร์ทถูกฝังอย่างเร่งรีบในที่ฝังศพสาธารณะ เพราะระหว่างที่นำศพไปนั้นเกิดมีพายุแรงและฝน ลูกเห็บตกอย่างหนัก ทำให้หีบศพถูกหย่อนไว้ร่วมกับศพคนยากจนอื่นๆ ไม่มีเครื่องหมายใดว่านี่คือศพของโมซาร์ทแต่ข้อเท็จจริงก็คือ โมซาร์ทไม่เป็นที่นิยมชมชอบอย่างที่เคยเป็นอีกต่อไป เขายังคงมีงานที่มีรายได้ดีจากราชสำนัก และยังได้รับเงินอุดหนุนจำนวนมากจากส่วนอื่นๆของยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกรุงปราก ยังมีจดหมายขอความช่วยเหลือทางการเงินของโมซาร์ทหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักฐานว่าเขาจนเพราะรายจ่ายเกินรายรับ ศพของเขาไม่ได้ถูกฝังในหลุมฝังศพรวม แต่ในสุสานของชุมชนตามกฎหมายของปีค.ศ. 1783

แม้ว่าหลุมศพดั้งเดิมในสุสานเซนต์มาร์กจะหายไป แต่ก็มีป้ายหลุมศพที่ตั้งไว้เป็นอนุสรณ์สถานในเซนทรัลไฟรด์ฮอฟ ในปีค.ศ. 1809 คอนสแตนซ์ได้แต่งงานใหม่กับจอร์จ นีโคเลาส์ ฟอน นีสเสน นักการฑูตชาวเดนมาร์ก (ชาตะ ค.ศ. 1761 มรณะ ค.ศ. 1826) ผู้ซึ่งหลงใหลคลั่งใคล้ในตัวโมซาร์ทอย่างมาก ถึงกับแต่งเรื่องราวเกินจริงจากจดหมายของโมซาร์ท และแต่งชีวประวัติของคีตกวีเอกอีกด้วย

โมซาร์ทมีชีวิตอยู่ตรงกับระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยอยุธยา และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมัยธนบุรี

ผลงานส่วนหนึ่งของโมซาร์ท
• ซิมโฟนี่ 41 ชิ้น
• เปียโนคอนเซอร์โต้ 27 ชิ้น
• ไวโอลินคอนเซอร์โต้ 5 ชิ้น
• คอนเสิร์ต 27 ชิ้น
• ดนตรีประเภทเครื่องสาย
• เพลงสรรเสริญพระเจ้า 18 ชิ้น
• โอเปร่า 22 ชิ้น

ในปี ค.ศ. 1856 หรือครบรอบหนึ่งร้อยปีของเขาได้มีการเฉลิมฉลองครั้งใหญ่เพื่อรำลึกถึงเขาในเมืองซัลเบิร์กและในกรุงเวียนนา คาร์ล โทมัส ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในขณะนั้น
ก็ได้มาร่วมงานที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกและเป็นเกียรติแก่บิดาของเขาด้วย
กว่าสองร้อยปีหลังจากเขาเสียชีวิตพวกเรายังคงได้ยินเสียงเพลงที่เกิดจากความสามารถและพรสวรรค์ของโมซาร์ทอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี ค.ศ.2002 และในวันครบรอบหนึ่งปีที่ตึกเวิร์ลเทรดของสหรัฐถูกโจมตี (11 กันยายน) นักร้องประสานเสียงในโบสถ์ทั่วโลกต่างไว้อาลัยผู้เสียชีวิตด้วยบทเพลงสวดส่งวิญญาณที่โมซาร์ทเป็นผู้ประพันธ์ โดยสวดอย่างยาวนานต่อเนื่องนานยี่สิบสี่ชั่วโมง นั่นเป็นความพยายามของชาวโลก ในการยกย่องสดุดีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น และเพื่อรำลึกถึงนักประพันธ์เพลงคลาสสิก
ผู้ยิ่งใหญ่เท่าที่โลกเคยรู้จักเจ้าของนามโวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท
แม้โมซาร์ทจะมีชีวิตอยู่ในโลกเพียงช่วงสั้นๆ แต่ดนตรีที่เกิดจากปลายปากกาของเขาจะอาบชะโลมใจ สร้างความปิติยินดีให้แก่ผู้ฟังและนักดนตรีทั่วโลกไปตลอดกาล...

ตารางชีวิตของโมซาร์ท

1751 แนนเนิร์ล พี่สาวของโวล์ฟฟี่ถือกำเนิด
1756 โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท เกิดในวันที่ 27 มกราคมในเมืองซัลเบิร์ก
1759 โวล์ฟฟี่เรียนรู้การเล่นเครื่องดนตรีที่เรียกว่าเคลเวียร์ในขณะที่มีวัยเพียงสามขวบ
1760 โวล์ฟฟี่ประพันธ์ทำนองเพลงได้เป็นครั้งแรกในวัยสี่ขวบ 1762 โวล์ฟฟี่สามารถเรียนการเล่นไวโอลินได้ด้วยตนเอง
โวล์ฟฟี่กับแนนเนิร์ลได้รับเชิญไปเล่นดนตรีต่อเบื้องพระพักตร์ของพระจักรพรรดินีมาเรีย เทรสซา ในกรุงเวียนนา
1763 โวล์ฟฟี่กับแนนเนิร์ลตระเวนแสดงในเยอรมนี เบลเยี่ยม ฝรั่งเศสและอังกฤษ จิตรกรชื่อลอเรนโซนี่วาดรูปเหมือนของเด็กน้อยทั้งสอง 1765 โวล์ฟฟี่ประพันธ์ซิมโฟนี่ชิ้นแรก "ซิมโฟนี่ อิน อี-แฟลต" ในขณะอยู่ในอังกฤษ
1768 โวล์ฟฟี่เขียนบทเพลงประกอบละครโอเปร่าเรื่องแรก
1770 ซาร์ทได้ยินเพลงมิสเซเรเรที่ประพันธ์โดยอัลเลกรีในโบสถ์เซ้นต์ปีเตอร์และเขียนโน้ตได้จากความทรงจำ1777 โมซาร์ทตกหลุมรักกับอลอยเซีย เวเบอร์
1778 โมซาร์ทประพันธ์เพลง "ปารีส ซิมโฟนี่"
มาเรีย แอนนา มารดาของโมซาร์ท เสียชีวิต
1780 โมซาร์ทได้รับมอบหมายให้ประพันธ์เพลงประกอบละครโอเปร่าเรื่อง "ไอโดเมนีโอ, กษัตริย์แห่งครีต"
1782 โมซาร์ทแต่งงานกับคอนสแตนซ์ เวเบอร์
1784 โทมัส คาร์ล บุตรชายของโมซาร์ทถือกำเนิด
1786 ละครโอเปร่าเรื่อง "การแต่งงานของฟิกกาโร" เปิดการแสดงครั้งแรกในโรงละคร "แกรนด์โอเปร่าเฮ้าส์"ในกรุงเวียนนา
1787 โมซาร์ทประพันธ์บทเพลงประกอบละครโอเปร่าเรื่อง "ดอน จิโอวานนี่"
ลีโอโพลด์ บิดาของโมซาร์ทเสียชีวิต
1791 ฟรานซ์ เซเวีย บุตรชายของโมซาร์ทถือกำเนิด
โมซาร์ทประพันธ์บทเพลงประกอบละครเรื่อง"ขลุ่ยมหัศจรรย์"
ชายแปลกหน้าผู้ลึกลับนำจดหมายไม่ระบุชื่อผู้ส่งมามอบให้ โดยในจดหมายระบุให้โมซาร์ทช่วยประพันธ์ เพลงสวด
โมซาร์ทเสียชีวิตในวันที่ 5 ธันวาคม ในอายุเพียง 35 ปี

Chopin Waltz in C Sharp Minor Op.64 No. 2

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อาชีพที่ใฝ่ฝันคือ นักเปียโน


เปียโน

บทความ เปียโน นี้เกี่ยวกับเครื่องดนตรี สำหรับสถาปนิกดูที่ เรนโซ เปียโน

ภาพแกรนด์เปียโนในปัจจุบันเปียโน เป็นเครื่องดนตรีขนาดใหญ่ที่สร้างเสียงเมื่อคีย์ถูกกดและกลไกภายในเครื่องตีสาย คำว่าเปียโนเป็นตัวย่อของคำว่า ปีอาโนฟอเต(pianoforte)-ออกเสียงว่า (ปี-อ๊า-โน่-ฟอ-เต้) ซึ่งเป็นคำภาษาอิตาเลียนที่แปลว่า "เบาดัง" มาจากความสามารถของเปียโนที่จะปรับความดังเบาตามแรงที่กดคีย์

ในฐานะเครื่องสาย เปียโนมีความคล้ายคลึงกับคลาวิคอร์ด (clavichord) และฮาร์ปซิคอร์ด (harpsichord) จะแตกต่างกันเพียงวิธีการสร้างเสียง สายฮาร์พซิคอร์ดจะถูกดีดหรือเกาโดยขนนก ส่วนสายของคลาวิคอร์ดจะถูกเคาะด้วยกลไกที่จะยังคงสัมผัสกับสายอยู่ตลอดเวลาหลังการเคาะ เพื่อบังคับความถี่ของการสั่น ส่วนสายเปียโนถูกเคาะด้วยลิ่มที่สะท้อนกลับในทันที เพื่อให้เกิดการสั่นของสายอย่างเป็นอิสระ

เปียโนเป็นเครื่องดนตรีที่ำสำคัญในดนตรีคลาสสิกตะวันตก ดนตรีแจ๊ซ ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ และดนตรีอีกหลายรูปแบบ เปียโนยังเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ชนชั้นกลางและชนชั้นสูง


เปียโนในปัจจุบัน
ประเภทเปียโน
เปียโนในปัจจุบันมีรูปแบบสองรูปแบบ คือเปียโนตั้งตรงและแกรนด์เปียโน

แกรนด์เปียโน(Grand)เป็นเปียโนที่มีสายและโครงวางในแนวนอน โดยที่สายเสียงนั้นจะถูกขึงออกจากคีย์บอร์ด ซึ่งทำให้มีเสียงและลักษณะที่ต่างออกไปจากเปียโนตั้งตรงแต่จะใช้ที่ทางมาก ทั้งยังจำเป็นต้องหาห้องที่มีการสะท้อนเสียงที่พอเหมาะสำหรับคุณภาพเสียงที่ดีที่สุด ในบรรดาแกรนด์เปียโนเองยังมีหลายขนาดและประเภท ซึ่งอาจจะแตกต่างกันตามผู้ผลิตหรือรุ่น แต่ก็ยังสามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ เช่น คอนเสิร์ตแกรนด์ ที่มีขนาดประมาน 3 เมตร แกรนด์ ที่มีขนาดประมาน 1.8 เมตร หรือ เบบี้แกรนด์ ที่มักจะสั้นกว่าความกว้าง. เปียโนที่มีความยาวจะสร้างเสียงที่ดีกว่าและเพี้ยนน้อยกว่าเปียโนเครื่องอื่นๆ แกรนด์เปียโนใหญ่จึงเป็นที่นิยมใช้ในคอนเสิร์ต

อัพไรท์เปียโน(Upright)เป็นเปียโนที่มีสายและโครงวางในแนวตั้ง และขึงสายเปียตั้งแต่ด้านล่างจนถึงด้านบนของเปียโน แต่เปียโนประเภทนี้ไม่สามารถควบคุมการสร้างเสียงได้นุ่มนวลเท่าแกรนด์เปียโน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเทคโนโลยีเปียโนตั้งตรงได้พัฒนาคุณภาพเสียงมากขึ้น โดยการปรับปรุงโครงสร้างใภยในให้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นโดยใช้พื้นที่ในการตั้งวางน้อยกว่าแกรนด์ แต่ให้เสียงที่ใกล้เคียงมากขึ้น

ในปี ค.ศ. 1863 เฮนรี ฟอร์โนว์ (Henry Fourneaux) ประดิษฐ์เปียโนที่สามารถเล่นตัวเองได้ (player piano) โดยใช้ม้วนเหล็กที่เดินเครื่องกลในตัวเปียโน

ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เริ่มมีการผลิตเปียโนดิจิตัลขึ้นใช้ โดยเลียนแบบเสียงของเปียโน เปียโนประเภทนี้เริ่มที่จะมีความซับซ้อนและการทำงานที่มากขึ้น โดยสามารถเลียนแบบชิ้นส่วนของเปียโนจริง เช่น น้ำหนักคีย์บอร์ด คันเหยียบ และเสียงเครื่องดนตรีอื่น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะทดแทนเปียโนเครื่องจริง


เปียโนสมัยใหม่เกือบทุกตัวจะมี 88 คีย์ (มากกว่า 7 Octave เล็กน้อย เรียงลำดับตั้งแต่ A0 ถึง C8) เปียโนรุ่นเก่าหลายตัวมีเพียง 85 คีย์ (ตั้งแต่ A0 ถึง A7) ผู้ผลิตบางรายก็อาจจะเพิ่มปริมาณคีย์ให้มากกว่านั้น โดยบ้างก็เพิ่มเพียงฝั่งเดียวก็เพิ่มทั้งสองฝั่ง ตัวอย่างที่ดีที่สุดก็คือเปียโนBösendorfer ซึ่งบางตัวเพิ่มคีย์เสียงต่ำลงไปกว่าปกติจนถึง F0 บางทีต่ำลงไปจนถึง C0 เลยก็มี ทำให้มีครบ 8 octave บางรุ่นอาจจะซ่อนคีย์พิเศษที่เพิ่มขึ้นมานี้ไว้ใต้ฝาปิดเล็กๆ ซึ่งสามารถปิดคีย์เอาไว้ได้เพื่อป้องกันไม่ให้นักเปียโนที่คุ้นกับเปียโนปกติเห็นแล้วเกิดความสับสนกับคีย์พิเศษที่เพิ่มขึ้นมา บางตัวก็อาจจะสลับสีคีย์พิเศษที่เพิ่มขึ้นมาเหล่านี้ (สลับดำเป็นขาว ขาวเป็นดำ) ด้วยเหตุผลเดียวกันนั่นเอง คีย์ที่เพิ่มขึ้นมานั้นโดยมากแล้วก็มีไว้เพื่อสร้างเสียงสะท้อน (resonance) ได้มากขึ้น ซึ่งก็คือมันจะสั่นไปพร้อมกับสายเปียโนเส้นอื่นๆ เมื่อใดก็ตามที่เหยียบคันเหยียบ ซึ่งก็จะให้เสียงได้เต็มกว่า มีเพลงที่แต่งขึ้นมาสำหรับเปียโนไม่กี่เพลงนักที่จะใช้คีย์พิเศษเหล่านี้ ไม่นานมานี้ บริษัท Stuart and Sons ได้ผลิตเปียโนที่มีคีย์มากกว่าปกติออกมาเช่นกัน เปียโนของบริษัทนี้จะเพิ่มคีย์เสียงแหลมขึ้นไปจนถึง 8 octave เต็ม ซึ่งคีย์พิเศษที่เพิ่มขึ้นมาก็ดูเหมือนคีย์ปกติทุกประการ

สำหรับการจัดเรียงคีย์บนเปียโน ให้ดูในหมวด Musical keyboard การจัดเรียงเช่นนี้ได้แบบมาจาก harpsichord โดยไม่ผิดเพี้ยน เว้นแต่สีของลิ่มคีย์ (สีขาวสำหรับเสียงปกติ และสีดำสำหรับชาร์ป sharps) ซึ่งกลายมาเป็นมาตรฐานสำหรับเปียโนในตอนปลายศตวรรษที่ 18

คันเหยียบ (Pedal)
เปียโนมีการใช้คันเหยียบหรืออุปกรณ์ที่มีลักษณะใกล้มาตั้งแต่ยุคต้นๆ (ในศตวรรษที่ 18 เปียโนบางตัวใช้แท่นแทนคันเหยียบ โดยให้ผู้เล่นใช้เข่าดันขึ้น คันเหยียบสามประเภทซึ่งได้กลายมาเป็นมาตรฐานในเปียโนปัจจุบัน ได้แก่

คันเหยียบ damper pedal (บ้างก็เรียก sustain pedal หรือ loud pedal) มักจะถูกเรียกว่า "the pedal" เฉยๆเพราะว่าเป็นคันเหยียบที่ถูกใช้งานมากที่สุด ซึ่งเป็นคันเหยียบที่อยู่ทางขวาสุด

คันเหยียบที่พบเห็นโดยมากที่ติดอยู่กับเปียโนนั้นโดยส่วนมากจะมีอยู่ 3 อัน หรือบางยี่ห้อหรือบางรุ่นจะมีเพียง 2 อันเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้การเล่นเปียโนนั้นมี dynamic ต่าง ๆ กันได้แก่

คันเหยียบอันซ้ายสุด = มีไว้เพื่อลดความดังของเปียโน ในแกรนด์เปียโน เมื่อเราเหยียบคันเหยียบอันนี้แล้ว ชุดของคีย์บอร์ดรวมทั้งไม้ฆ้อนจะขยับไปทางซ้ายหรือทางขวาเล็กน้อย เพื่อให้ไม้ฆ้อนตีถูกสายเพียงครึ่งเดียว (ปกติเปียโนจะมีสาย 1 ถึง 3 เส้น ต่อ 1 คีย์) ทำให้เสียงเบาลง ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า (Una Corda แปลว่า สายเส้นเดียว) ส่วนในอัพไรท์เปียโน เมื่อเราเหยียบคันเหยียบอันนี้แล้ว จะมีคานมาดันชุดไม้ฆ้อนให้ขยับเข้าไปใกล้กับสายมากขึ้น ทำให้เมื่อกดคีย์แล้ว ไม้ฆ้อนจะเหวี่ยงตัวได้น้อยกว่าปกติ แรงที่เคาะสายจึงน้อยลงด้วย ผลที่ตามมาก็คือ เสียงที่ค่อยกว่า และนุ่มนวลกว่า และจะได้เสียงที่นุ่มลงกว่าเดิม แต่เมื่อเรายกเท้าจากคันเหยียบอันนี้เสียงเปียโนก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม
คันเหยียบอันกลาง = ในแกรนด์เปียโนเรียกว่า sostenuto pedal เมื่อเหยียบแล้ว จะดำรงเสียงของตัวโน้ตที่กดไว้ก่อนเหยียบคันเหยียบนี้เท่านั้น โดย damper จะเปิดขึ้น (โน้ตอื่นๆ ที่กดหลังจากเหยียบคันเหยียบ damper จะทำงานปกติ ทำให้เสียงสิ้นสุดเมื่อปล่อยนิ้ว) ส่วนในอัพไรท์เปียโน เรียกว่า soft pedal มีไว้เพื่อลดความดังของเปียโน เมื่อเราเหยียบคันเหยียบอันนี้แล้ว จะมีผ้ามากั้นระหว่างฆ้อนกับสาย เพราะฉะนั้นเมื่อเรากดคีย์ เสียงที่ได้จะเบาลง คันเหยีบบอันนี้มีความพิเศษก็คือ มันจะมีช่องสำหรับให้คันเหยียบอันนี้ค้างอยู่ได้ จึงทำให้เราไม่ต้องเมื่อยเมื่อต้องใช้เสียงเบา หรือต้องการใช้ dynamic แบบนี้นาน ๆ ได้ และเรายังสามารถปรับความดัง-เบา นุ่มลึกได้โดยการปรับระดับของแผ่นผ้าที่เคลื่อนลงมากั้นระหว่างฆ้อนเมื่อจะเคาะสายเปียโนได้อีกด้วย (แต่การปรับนั้นต้องเปิดฝาข้างล่างของเปียโนก่อน) ในอัพไรท์เปียโนมักใช้คันเหยียบนี้ในการซ้อมเปียโนเวลาไม่ต้องการให้มีเสียงดังมาก รบกวนคนอื่น
คันเหยียบอันขวาสุด = คันเหยียบอันนี้มักจะถูกใช้บ่อย ๆ ซึ่งคำว่า pedal หรือ sustain ที่เราใช้เรียกอุปกรณ์ชิ้นนี้นั้นก็มาจากการทำงานของคันเหยียบตัวนี้ นั่นคือมันมีไว้เพื่อลากเสียงของโน้ตให้ยาวขึ้น คือเมื่อเรากดคีย์เปียโน 1 ครั้งและยกมือออกจากคีย์ เสียงก็จะหยุดทันที แต่คันเหยียบตัวนี้จะทำให้เกิดโน้ตที่มีเสียงยาวขึ้นโดยที่เราไม่ต้องกดมือค้างไว้ เพื่อจะได้เล่นโน้ตตัวอื่นได้อีก ทำให้เกิด hamony ขึ้นในเพลง เพิ่มความก้องกังวาน และความไพเราะให้กับการบรรเลงเปียโนของเรามากขึ้น (การเหยียบคันเหยียบอันนี้ค้างไว้นาน ๆ นั้นไม่ได้ทำให้การบรรเลงเพลงไพเราะเลยทีเดียวนะครับ เพราะการเหยียบนาน ๆ ค้างไว้จะทำให้เสียงของโน้ตหลาย ๆ เสียงเกิดปนกัน ทำให้เกิดคู่เสียงอันไม่พึงประสงได้ เพราะฉะนั้นหากจะใช้คันเหยียบอันนี้ก็ต้องฝึกฝน ไม่ยากเกินความสามารถแน่นอน)